วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

Travel Bangkok 360 องศา : เส้นทางย้อนอดีตชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา(ฝั่งธนบุรี) ตอนที่ 3

Travel Bangkok 360 degree : the route back in time Traditional community (Thonburi) Chapter 3


          บทความการเดินเที่ยวย้อนยุคฯนี้ เป็นการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งของคนไทยที่อาศัยอยู่ตลอดทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านช่วงเวลาในแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน เปรียบเสมือนการฉายภาพย้อนกลับไปในอดีตที่ซ้อนๆกันอยู่ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน หลายคนที่เคยเห็นภาพสิ่งที่คุ้นตาในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว 

คำถามก็คือ จะน่าเสียดายมากแค่ไหน? หากไม่มีการบันทึกภาพและเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ ดังนั้นภาระกิจที่ได้ไปเดินเที่ยวย้อนยุคและบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ จึงถือว่าเป็นการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า เมืองกรุงเทพฯในอดีตเป็นอย่างไร?

          กลับมาถึงที่พักขอพักสัก 1 สัปดาห์ ค่อยตัดสินใจไปเดินเที่ยวต่อจากครั้งที่แล้ว ถือโอกาสช่วงมีพายุฝนในกรุงเทพที่ตกติดต่อมาหลายวัน นั่งค้นข้อมูลสถานที่เป้าหมายที่จะไป เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ได้ฤกษ์เริ่มต้นออกเดินเที่ยวกันต่ออีกครั้ง โดยขอเริ่มต้นที่ วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง)ละกัน

----------------------------------------------------

          ตื่นแต่เช้ามืด นั่งรถเมล์สาย 12 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ(ฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ไปลงที่ป้ายรถเมล์ข้างหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน(รด) ตรงข้ามสวนสราญรมย์ รถเมล์สายนี้วิ่งทำเวลาดีมาก ยิ่งถ้าเป็นรถร่วมเล็กสาย 12(สีส้ม)ด้วยแล้ว ทำเวลาได้เร็วขึ้นไปอีก

          วันนี้รถเมล์ร้อนสีแดง สาย 12 ของ ขสมก.ใช้เวลาวิ่งประมาณ 40 นาที ก็มาจอดส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถประจำทาง ก่อนที่วิ่งเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าวัดโพธิ์ และเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าไปในถนนพระพิพิธ ไปจอดสุดสายที่คิวรถเมล์สาย 12 (ตรงข้ามสำนักงานที่ดินจังหวัดกรุงเทพมหานคร)



          หากรีบอยากไปถึงเร็วๆ ก็ให้ยืนรอโบกรถเมล์สาย 1 ไปลงที่ป้ายหยุดรถเมล์ท่าเตียน ซึ่งอยู่ตรงบริเวณด้านหน้า สวนนาคราภิรมย์ "  พอรถเมล์เลี้ยวขวาที่แยกท่าเตียน ให้กดกริ่งลงได้เลย เดินย้อนกลับมานิดหนึ่ง แล้วเดินเลี้ยวขวาเข้าไปที่ท่าเรือ “ ท่าเตียน “ เพื่อข้ามไปยังวัดอรุณราชวรารามได้เลย แต่ตอนเช้าๆแบบนี้ ไม่เห็นจำเป็นต้องรีบร้อนอะไร เดินไปดีกว่าแค่ท่าเตียนเท่านั้นเอง

          ตรงบริเวณทางแยก ให้สังเกตป้ายที่บอกชื่อถนนว่า “ ถนนเจริญกรุง “ หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า ถนนเจริญกรุงสายนี้เริ่มต้นจากตรงป้ายนี้ ยาวไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนตก ซึ่งจะผ่านย่านเยาวราช(ถนนเดินทางเดียว วิ่งคู่ขนานไปกับถนนเยาวราช) เฉียดหัวลำโพง ก่อนเลี้ยวขวาผ่านไปย่านบางรัก เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์  ไปจนสุดสายที่ถนนตก นอกจากนั้น ถนนสายนี้ ยังถูกบันทึกว่า เป็นถนนลาดยางมะตอยสายแรกของเมืองไทยเราอีกด้วย


          ข้ามถนนไปยังวัดเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) ก่อนเดินเลียบกำแพงวัดไปตามบาทวิถีของถนนท้ายวัง ปลายทางคือ " ท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน " ตลอดแนวกำแพงวัดไปท่าเตียน จะมีเส้นทางจักรยานชิดขนานไปกับบาทวิถี(กทม.ได้ทำเส้นทางจักรยานไว้รอบเกาะรัตนโกสินทร์) นักท่องเที่ยวที่ชอบการปั่นจักรยาน ก็สามารถปั่นเที่ยวไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆได้ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ แต่เช้าๆอย่างนี้ ยังไม่มีเห็นจักรยานของนักท่องเที่ยวมาวิ่งเลยสักคันเดียว



          เดินไปเรื่อยๆ ยังไม่ทันให้เหงื่อไหลซึมเลย ก็มาถึงตรงแยกท่าเตียนแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่มาเที่ยวกัน จะมีก็แต่แม่ค้า - พ่อค้าที่เริ่มเตรียมตัวกันเปิดร้าน เพื่อรอรับนักท่องเที่ยว ทำให้สามารถมองเห็นอาคารอนุรักษ์ฯแนวย้อนยุคได้อย่างชัดเจน

          อาคารซึ่งปรับปรุงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์ในพื้นที่บริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง อาคารเหล่านี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีทั้งสิน 3 แห่งด้วยกัน คือ อาคารตึกแถวถนนหน้าพระลาน ท่าช้างวังหลวง และที่บริเวณตลาดท่าเตียนแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล หรือเรียกว่า โคโลเนียลสไตล์ " แนวยุค นีโอคลาสสิก  

          มีการจัดระเบียบให้ดูสวยงาม สบายตาขึ้นเยอะเลย แต่ก่อนตรงแถวๆหัวมุม จะมีอาหารทะเลแห้งวางโชว์เต็มหน้าร้านไปหมด เดี๋ยวนี้ถูกจัดระเบียบใหม่ไม่ให้ล้นออกมาด้านนอกเหมือนเดิมแล้ว เวลาเดินผ่านมองดูสวยงามมาก




          เดินเข้าไปภายในท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน มีบางร้านค้าเริ่มเปิดร้านและจัดของ เพื่อเตรียมตัวขายสิ้นค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินข้ามไปข้ามมา ทั้งจากฝั่งท่าเตียนและฝั่งวัดอรุณฯ ค่าข้ามเรือ คนละ 3 บาท แยกเก็บเงินกันคนแต่ละฝั่ง ขึ้นอยู่กับว่า ขึ้นฝั่งไหน?ก็เก็บด้านนั้น จ่ายเงินเสร็จก็เดินลงไปรอเวลาที่จะข้ามเรือได้เลย ทางเดินขึ้นและลงเรือ จะแบ่งเป็นสองทางเดิน เวลาเดินให้เดินทางด้านขวามือของแต่ละด้าน จะได้ไม่เดินมาชนกัน




          ระหว่างที่รอเรือออกจากท่าเรือ มองไปยังฝั่งวัดอรุณราชวราราม จะมองเห็นยอดพระปรางค์ที่กำลังปรับปรุงซ่อมแซมยังไม่แล้วเสร็จ ด้านซ้ายมือถัดไปที่มองเห็นเป็นอาคารยาวหลังคาที่สีแดง ตั้งฉากไปจรดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือ “ พระราชวังเดิม “ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ตั้งใจจะขอเข้าไปแวะเก็บภาพในวันนี้ ส่วนซ้ายสุดที่มองเห็นแต่หลังคาโบสถ์ไกลลิบๆ ก็จะเป็นวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          เมื่อเรือข้ามฟากได้เวลาออกจากฝั่ง ผู้โดยสารและคนขับเรือพร้อม เรือก็แล่นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทันที ช่วงที่เรือกำลังแล่นใกล้จะถึงท่าเรือวัดอรุณราชวราราม สามารมองเห็นอาคารพระราชวังเดิม ได้ค่อนข้างชัดเจน ทราบจากคุณทหารเรือที่นั่งมาด้วยว่า ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยงานของทหารเรือ หากต้องการเข้าไปต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะมาเป็นหมู่คณะ แต่ถ้ามาเดี่ยวๆ แต่งตัวแบบที่ไปในวันนี้ คาดว่าเขาคงไม่อนุญาตให้เข้าไปแน่นอน แต่คุณทหารเรือก็ยังให้ความหวังบอกว่า “ พี่ลองเข้าไปขอแลกบัตรด้านหน้าทางเข้าดูก่อนก็ได้ หากเขาอนุญาต พี่ก็คงเข้าไปได้ “ แบบนี้มันต้องลองวัดดวงกันหน่อยดีกว่า เผื่อโชคดีได้เข้าไปเหมือนที่คุณทหารเรือเขาบอกก็ได้




          พอเรือถึงฝั่ง ก็เดินตามหลังคุณทหารเรือขึ้นไป เลือกเดินเข้าไปในช่องขวามือจนถึงด้านในบริเวณช่องจ่ายเงิน ซึ่งจะมีป้ายลูกศรสีแดง บอกว่าให้เดินออกทางด้านขวามือ โดยไม่ต้องผ่านช่องจ่ายเงิน ก่อนเลี้ยวซ้ายมืออีกที ก็จะมองเห็นทางเดินเข้าวัดอรุณราชวรารามแล้ว




          ด้วยครั้งที่แล้วต้องรีบกลับเพราะท้องฟ้ามืดครึ้มไปด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้า จึงได้ภาพไม่ครบตามที่ต้องการ วันนี้เลยต้องเก็บภาพเพิ่มเติม เพื่อประกอบการเล่าเรื่องราววัดอรุณราชวรารามนี้ อีกครั้งละกัน

          รู้หรือไม่?- พระปรางค์ของวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ เป็นพระปรางที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความสูงที่มากถึง 82 เมตร วัดรอบฐานได้ 234 เมตร เดิมทีก็ไม่ได้สูงใหญ่เช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้หรอก แต่มีขนาดสูงเพียงแค่ 16 เมตรเท่านั้น ในรัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และทรงมีพระราชดำริที่จะเสริมพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงเริ่มก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ แต่มาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนกลายเป็นพระปรางที่สูงที่สุดในประเทศไทย คนทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า “ วัดแจ้ง “ ส่วนชาวต่างชาติ เรียกวัดอรุณราชวรวิหารนี้ว่า " The Temple of down " ซึ่งน่าจะแปลว่า " วัดแห่งรุ่งอรุณ " 

          พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้อัญเชิญมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้อัญเชิญ ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปี กำหนดระยะเวลาบูรณะจนแล้วเสร็จ 3 ปี เริ่มเมือวันที่ 24 กันยายน 2556 โดยเริ่มจากบูรณะองค์พระปรางค์ประกอบทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ก่อน(ปัจจุบันเสร็จแล้วบางส่วน) ขณะนี้กำลังบูรณะพระปรางค์ประกอบฝั่งที่เหลือยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในปี 2558 นี้ ส่วนองค์พระปรางค์หลัก จะบูรณะต่อในปี 2559 ต่อไป (ตอนนี้ ปี พ.ศ. 2560 ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว)

          ข้ามฝั่งมาถึง จึงเดินออกจากท่าเรือฯเข้าสู่ประตูวัด ความสง่างามของพระปรางค์ที่เคยเห็นในรูปภาพ ตั้งตระหง่านตรงข้างหน้าแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการบูรณะซ่อมแซมก็ตาม แต่ก็ยังคงรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่อลังการ บริเวณภายในวัดดูสวยงาม มีสวนหย่อมและสนามหญ้า มีทางเดินที่แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนให้เดินได้อย่างสบายใจ


          จากประตูทางเข้าด้านขวามือ สิ่งที่สะดุดตาก่อนอื่นใดก็คือ รูปปั้นยักษ์ยืนถือกระบอง 2 ตน ที่หน้าซุ้มประตูยอดมงกุฏ ทางเข้าสู่พระอุโบสถ มียักษ์สีเขียวคือ “ ทศกัณฑ์ “ ส่วนยักษ์สีขาวคือ “ สหัสเดชะ “ จากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ละเอียดงดงามมาก

          เมื่อเดินผ่านประตูพระอุโบสถเข้าไปด้านใน ก็จะพบกับพระอุโบสถที่กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมอยู่เช่นกัน คงเข้าไปด้านในไม่ได้

ข้อมูลน่ารู้ :

          อุโบสถ(อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรม โดยการกำหนดตำแหน่ง สีมา เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

          ส่วนมากคำว่าโบสถ์ มักใช้เป็นภาษาพูดที่ไม่เป็นทางการ ส่วนคำว่าอุโบสถ ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ และ คำว่า พระอุโบสถ ใช้กับวัดที่เป็นพระอารามหลวง สูงขึ้นไปอีกขั้น


ที่มาข้อมูลบางส่วน : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




          เดินทะลุออกมาจากประตูด้านข้างพระอุโบสถ จะเจอกับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง หากใครต้องการขึ้นไปไหว้สักการะ ต้องออกแรงกำลังขาเพื่อเดินขึ้นบันไดสูง เป็นการทดสอบพละกำลังหรือแรงอึดเบื้องต้น ก่อนที่จะไปปีนขึ้นองค์พระปรางค์ ที่มีความสูงมากกว่า(กำลังบูรณะซ่อมแซมอยู่ในขณะนี้)

ข้อมูลน่ารู้ :

          มณฑปพระพุทธบาทจำลอง "  ตั้งอยู่ระหว่างพระเจดีย์(ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ 4 องค์)กับพระวิหารหลวง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ มีฐานทักษิณ 2 ชั้น สร้างในรัชกาลที่ 3 หลังมณฑปเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีน ได้พังลงมาเมื่อ ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงรับจัดการเงินและเรี่ยไรซ่อม มีพระประสงค์จะเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดมงกุฎ 4 เหลี่ยม แต่ทำยังไม่ทันแล้วประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อน และพระยาราชสงคราม(ทัด หงสกุล) ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ถึงอนิจกรรม

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาราชสงคราม(กร หงสกุล) ขณะเป็นพระราชโยธาเทพทำตามรูปเดิม แต่ในปัจจุบันหลังคามณฑลเป็นของสร้างใหม่ ทำด้วยซีเมนต์ สืบได้ความว่า หลังคาที่ซ่อมใหม่นี้เป็นของทำในสมัยพระธรรมเจดีย์(อุ่ม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 9

ที่มาข้อมูล : http://www.watarun.org/lord.html





          หากเดินไปตามทางเดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีศาลาท่าน้ำทรงเก๋งจีนไว้นั่งพักผ่อนหรือหลบความร้อนจากแสงแดด และที่อยู่บริเวณข้างเคียงกันก็จะเป็น อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ 2)" ประดิษฐานอยู่

          ถัดมาก็จะเป็น " โบสถ์น้อย " ซึ่งจะอยู่ติดกับประตูทางเข้าองค์พระปรางค์ ภายในโบสถ์น้อยจะมี พระบรมรูปจำลองสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสิน(ทำด้วยไม้สักขนาดใหญ่แผ่นเดียว) รวมทั้งพระแสงศาสตราวุธที่ใช้ในการศึกสงคราม

ข้อมูลน่ารู้ :

          พระปรางค์ คือ " เขาพระสุเมรุ " สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ซึ่งได้ถูกจำลองไว้ในสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ  เมื่อเราเดินผ่านประตูรั้วขององค์ปรางค์ที่เปรียบเสมือนกำแพงของจักรวาล พื้นลานกว้างเปรียบคือท้องทะเลสีทันดร กลางทะเลมีเขาพระสุเมรุ นั่นก็คือ " องค์ปรางค์ "แวดล้อมด้วยปรางค์ทิศทั้ง 4 แทน 4 ทวีป ซึ่งในไตรภูมิได้แก่" อุตรกุรุทวีปด้านทิศเหนือ ,บุรพวิเทหทวีปด้านตะวันออก ,อมรโคยานทวีปด้านตะวันตก และชมพูทวีปด้านทิศใต้ " ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์ บริเวณฐานพระปรางค์ มีสัตว์ป่าหิมพานต์เช่นกินรี  สูงขึ้นไปเป็นลำดับชั้น คือยักษ์ลิงและเทวดาที่อยู่สวรรค์ชั้นล่างสุดช่วยกันแบกเขาพระสุเมรุ

          สุดยอดของพระปรางค์ ก็คือ“ มงกุฎ  ส่วนยอดขององค์ปรางค์ประดับด้วย " นภศูล(อาวุธของพระอินทร์) " มีลักษณะเป็นฝักเก้าแฉก  เหนือขึ้นไปเป็นมงกุฎ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจากเศียรของพระประธานในโบสถ์วัดนางนอง ย่านบางขุนเทียน เมื่อปี พ.ศ. 2390   นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า พระองค์ฯทรงต้องการสื่อว่า เจ้าฟ้ามงกุฎหรือรัชกาลที่4คือ กษัตริย์องค์ต่อไป




          เป้าหมายต่อไปคือ " พระราชวังเดิม " ซึ่งหมายถึง สถานที่ตั้งกรุงธนบุรีเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เดินเท้าผ่านประตูวัดฯออกไปยังถนนหน้าวัดอรุณราชวราราม แล้วเดินเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหน้าวัดไปจนถึงหน่วยงานกองทัพเรือ อันเป็นที่ตั้งเดิมของพระราชวังกรุงธนบุรีเดิม ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพเรือ

          เมื่อเดินเข้าไปถึงตรงช่องที่ให้บริการติดต่อสอบถาม ได้สอบถามถึงขั้นตอนการขออนุญาตเพื่อเข้าไปถ่ายภาพที่ตั้งพระราชวังเดิม โดยแจ้งว่าต้องการภาพประกอบในการเขียนบทความเรื่องราวสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในได้ ทราบแต่เพียงว่า จะเข้าได้ คือ วันที่ 28 สิงหาคมของทุกปี (วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เดินกลับออกมาที่ประตูทางเข้า เป้าหมายต่อไป คือ " วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร "

ข้อมูลควรรู้ :
          
          " พระราชวังเดิม " เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ" ป้อมวิไชยเยนทร์ " ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

          
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดสร้างพระราชวังนี้ขึ้น ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยเมื่อ ปี พ.ศ. 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น" ป้อมวิไชยประสิทธิ์ " ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย

          อาณาเขตของพระพระราชวังเดิมในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวม " วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) " และ " วัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) " เข้าไปในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า " พระราชวังเดิม " ตั้งแต่นั้นมา 

          รัชกาลที่ 1 ได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองที่กล่าวแล้วอยู่ภายนอกพระราชวัง และเนื่องจากพระราชวังธนบุรี มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาทุกรัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระราชทาน" พระราชวังเดิม " ให้เป็นที่ตั้งของ" โรงเรียนนายเรือ "

ข้อมูลอ้างอิง : มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม. "พระราชวังเดิม พ.ศ. 2541" กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2539.




         ประตูที่จะผ่านเข้าไปยัง " วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร " อยู่ถัดจากกองทัพเรือไปนิดเดียวเอง ด้านบนปากถนนทางเข้า จะมีป้ายบอกชื่อวัดฯเอาไว้ เดินไปเรื่อยๆจนสุดทาง มองเห็นบ้านสีส้มๆ ก่อนเดินโค้งเลี้ยวไปทางด้านซ้ายมือ




          เส้นทางจากตรงนี้ น่าจะเรียกว่าซอยเสียมากกว่าที่จะเรียกว่าถนน เพราะมันเริ่มแคบลงกว่าถนนที่เพิ่งเดินมา พอเดินตรงไปจนสุดทาง ก็จะเลี้ยวโค้งไปทางด้านขวามืออีกครั้ง หลังจากนั้นก็เดินตรงยาวๆต่อไปจนถึงประตูวัด ในที่สุดก็เดินมาถึง " วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร " แม้เส้นทางเดินจะค่อนข้างเงียบและเปลี่ยวสักหน่อย แต่ก็ปลอดภัยดี



          เดินตรงผ่านประตูวัดเข้าไปยังพระอุโบสถ แวะคุยกับคุณลุงคนดูแลวัดและถามว่า ถ้าจะถ่ายภาพ “ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ “ ตรงไหนในวัดที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด  ได้ความว่า ไม่มีและไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเลย เนื่องจากมีกำแพงและต้นไม้สูงบัง ถ้าจะมองเห็นได้ชัดเจนหน่อย อาจต้องเดินข้ามคลองบางกอกใหญ่ไปยังฝั่งวัดกัลยาณมิตรโน่นแหละ



          " วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร " หรือชื่อเดิมว่า “ วัดท้ายตลาด ” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่

ในสมัยกรุงธนบุรี วัดนี้เป็นวัดอยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่ฝั่งกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิมนต์พระสงฆ์ มาจำพรรษาทั้งที่วัดแจ้งและวัดท้ายตลาด  

          ส่วนพระวิหาร สมัยก่อนใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า " วัดโมลีโลกยสุธาราม " ภายหลังมาเรียกกันว่า " วัดโมลีโลกยาราม "

          ภายในเขตบริเวณพระอุโบสถ นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีพระแท่นที่นั่งเก่าแก่ หอสมเด็จ อาคารโมลีปริยัติยากรเฉลิมพระเกียรติ(สีขาว) และพระวิหารฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

          ในภาพ ด้านซ้ายมือจะเป็นพระอุโบสถ ด้านหน้าคือ หอสมเด็จและอาคารโมลีปริยัติยากรเฉลิมพระเกียรติ(สีขาว) ส่วนด้านขวามือจะเป็นพระวิหารฉางเกลือ


          พระอุโบสถ หลังคามุขลด 3 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องไทย มีช่อฟ้าและใบระกา ซุ้มประตู หน้าต่างและหน้าบันเป็นลายปูนปั้น บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักรูปต้นไม้ดอกไม้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชทาน “ ตราไอยราพรต “ ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้น ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย


          อาคารโมลีปริยัติยากรเฉลิมพระเกียรติ(สีขาว) เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ และบำเพ็ญกุศล ดูยิ่งใหญ่ อลังการและงดงามมาก ถือว่าโชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้ามาเห็นด้วย 2 ตาใกล้ๆแบบนี้



          คุณลุงคนดูแลวัด เปิดพระวิหารฉางเกลือ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระอุโบสถ ให้เข้าไปถ่ายภาพด้านใน พร้อมอธิบายประวัติความเป็นมาให้ฟังโดยละเอียด  ภายในพระวิหารแบ่งออกเป็น 2 ห้อง โดยด้านหน้าจะเป็นห้องใหญ่ และห้องเล็กด้านหลัง

          เดินเข้าทางประตูด้านหลังของห้องเล็ก ซึ่งภายในห้องเล็กจะมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่ ชื่อ “ พระปรเมศ “ คุณลุงบอกว่า ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผนังห้องเขียนลวดลายงดงาม เป็นรูปลายใบไม้และดอกไม้(สีทองตัดกับพื้นสีดำ) เรียงเป็นแถวยาว ส่วนบานประตูด้านใน เขียนเป็นภาพรุกขเทวดาถือพระขรรค์ สวยงามมาก

ข้อมูลน่ารู้ :

          พระวิหารเป็นปูชนียสถานที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดของวัด ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหันหน้าลงสู่ลำคลองบางกอกใหญ่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อวัดนี้ได้ถูกรวมเข้าเป็นเขตพระราชฐานพระราชวังธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ เพราะสมัยนั้นเกลือมีความสำคัญในการถนอมอาหารในการเดินทัพ นับเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการรบ จนถึงมีคำกล่าวกันว่า หากจะโจมตีบ้านเมือง จะต้องทำลายฉางเกลือ คลังเสบียง และคลังแสงให้ได้ จึงเรียกกันว่า“ พระวิหารฉางเกลือ  

          วิหารหลังนี้ มีลักษณะไทยผสมจีน กว้าง 8.75 เมตร ยาว 19.75 เมตร หลังคามุขลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น ภายในมีฝาผนังก่อด้วยอิฐฉาบปูน กั้นเป็น 2 ตอน 

          ตอนหน้า กว้างใหญ่โอ่โถ่ง ตรงกลางมีฐานชุกชีก่อ อิฐฉาบปูน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่าง ๆ บนฐานชุกชีตอนหลังมีพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 56 นิ้ว และพระพุทธรูปปั้นขนาดย่อมอีกหลายองค์ รวมแล้วมากกว่า 20 องค์ นัยว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ สันนิษฐานว่าหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

          ตอนหลัง  เป็นห้องเล็กมีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ ขนาดหนักตักกว้าง 108 นิ้ว นามว่า “ พระปรเมศ  หันพระพักตร์ไปทางพระอุโบสถ และมีรูปหล่อพระอัครสาวกทั้งสอง ผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม สำหรับผนังทั้งหมดฉาบปูน ประตูและหน้าต่างทุกช่องเขียนลวดลายรดน้ำงดงาม เพดานเขียนลวดลายเป็นกลุ่มดาว

ที่มาข้อมูล : http://www.watmoli.com




          ที่นี้มาดู บริเวณห้องใหญ่ด้านหน้ากันบ้าง ในห้องใหญ่นี้จะมีแท่นชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ  ถัดเลยออกมาจะมีต้นเสาปูนทาสีขาว ต้นทางด้านซ้ายมือของแท่นชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หลายท่านคงไม่ทราบว่า ภายในจะเป็นต้นเสาไม้เก่าแก่ แต่ถูกปูนหล่อโอบเอาไว้อีกที  แล้วมันพิเศษตรงไหนกันล่ะ? คุณลุงเล่าให้ฟังว่า เสาต้นนี้แหละ ที่ " สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช " ชอบมานั่งพิงอยู่เป็นประจำ แกบอกให้เอามือจับต้นเสาทั้ง 2 ข้าง แล้วอธิษฐานขอพรจากสมเด็จท่านฯได้เลย

          ส่วนตรงบริเวณที่ว่างๆ ตรงกลางที่ปูพรมแดง ก็คือ ตำแหน่งที่เก็บเกลือจำนวนมากเอาไว้ วิหารแห่งนี้จึงถูกเรียกกันว่า “ วิหารฉางเกลือ “ นั่นเอง




          ตอนออกมาจากวิหารฉางเกลือ มีคุณครูผู้หญิง 2 ท่าน ทราบว่า เป็นคนจากชุมชนวัดหงส์ฯ มาติดต่อธุระที่วัดนี้ และได้เดินเข้ามาร่วมฟังการพูดคุยกับคุณลุงด้วย และอยากจะเข้าไปในวิหารฉางเกลือบ้าง จึงขอให้คุณลุงเป็นคนพาเข้าไปในวิหารฉางเกลือ ก็เลยเดินเลี่ยงไปเก็บภาพส่วนอื่นๆแทน ส่วนคุณลุงก็ทำหน้าที่ไกด์พาคุณครูทั้ง 2 ท่านเข้าไปในพระวิหารฯอีกครั้ง

          สักพักใหญ่ๆจึงเดินทะลุออกประตูมาอีกด้านหนึ่งของเขตพระอุโบสถ ก็มาโผล่ทางด้านที่ติดกับคลองบางกอกใหญ่ มองเห็นคุณลุงกำลังรับแขกอีกคณะหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 50 เมตร พอหันหน้ามาเจอกัน ต่างคนต่างโบกมือลากันตรงนั้น โอกาสหน้าหวังว่าจะได้เจอกันอีก มิตรภาพที่เกิดขึ้นช่วงสั้นๆ แต่ก็ประทับใจกันล้นเหลือ


          นี่คือเส้นทางลัด ที่สามารถเดินข้ามสะพานไปยังฝั่งวัดกัลยาณมิตร ที่จริงเป็นประตูระบายน้ำ ของสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นคุณลุงอีกนั่นแหละ ที่แนะนำเส้นทางนี้ให้ ด้านบนจะเป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการระบายน้ำ ใช้เวลาเดินข้ามสะพานไปนิดเดียวเอง ก็ถึงเขตวัดกัลยาณมิตรแล้ว




          ถึงจะเป็นเขตของวัดกัลยาณมิตร แต่ก็มีชาวบ้านอยู่อาศัยเป็นชุมชนรอบวัด เรียกว่า “ ชุมชนวัดกัลยาณ์ “ เท่าสอบถามทราบว่า อยู่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว แต่กำลังถูกทางวัดไล่ทีกันอยู่ และวันนี้ก็เป็นวันแรกที่มีการบังคับให้รื้อถอนบ้านในชุมชนรอบวัดเสียด้วยสิ

          เดินเลี้ยวซ้ายไปตามทางเดินผ่านเข้าไปในชุมชนวัดกัลยาณ์ สักระยะหนึ่งก็เห็นซากบ้านของชาวบ้านที่โดนรื้อไปแล้วบางหลัง เหลือแต่ซากทิ้งไว้เท่านั้น เห็นแล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจเหมือนกัน อาศัยอยู่กันมาหลายต่อหลายชั่วคน มาถึงวันนี้ก็ต้องจากไปอยู่ที่อื่น คงใจหายน่าดู

          เมื่อเดินมาจนสุดถนน ด้านซ้ายมือจะมีทางเดินไปยังโป๊ะเรือริมคลองบางกอกใหญ่ทีไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากจุดนี้น่าจะสามารถมองเห็นด้านข้างของ “ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ “ ได้บางส่วนเพราะมีต้นไม้บังมองเห็นไม่ชัดอยู่ดี จึงได้ภาพแบบที่เห็นนี่แหละ ในภาพมีฝรั่งหนุ่มสาว เช่าเรือหางยาวนำเที่ยวมาลอยลำดูเหมือนกัน อยู่ใกล้เสียขนาดนั้น คงมองเห็นชัดเจนกว่าแน่นอน

          สำหรับ “ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ “ ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญของไทยหลายท่าน (ที่ไม่ใช่จากตำราเรียนที่เราเคยเรียนมา) ระบุตรงกันว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสวรรคต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปี แล้วอัญเชิญพระบรมศพไปไว้ ณ วัดอินทารามวรวิหาร(วัดบางยี่เรือใต้) ธนบุรี 

ข้อมูลน่ารู้ :

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นป้อมสำคัญที่ใช้ป้องกันข้าศึกตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ทางเหนือของปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) โดยมีป้อมคู่กันอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน แต่ได้รื้อออกไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ (พระราชวังเดิม)

          สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ " ป้อมบางกอก " หรือ " ป้อมวิไชยเยนทร์ " ตั้งตามชื่อของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่เป็นผู้กราบบังคมทูลให้สร้างป้อมแห่งนี้ เพื่อป้องกันเรือรบของฮอลันดา ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณป้อมนี้ พร้อมกับปรับปรุงป้อมพระราชทานนามว่า " ป้อมวิไชยประสิทธ์ "

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์มีสถาปัตยกรรมเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน มีกำแพงรูปแปดเหลี่ยม 2 ชั้น สร้างขนานกัน กำแพงชั้นในมีหอคอยกลมทรงสอบ 2 หลัง ตั้งอยู่บนกำแพงตรงมุมด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือไทย ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และมีการติดตั้งเสาธงบริเวณทางเข้าป้อมทางทิศตะวันตกตรงกำแพงชั้นใน เพื่อชักธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ
      
ทีมาข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




          บ้านริมน้ำหลังนี้ กำลังถูกรื้อพอดี มีโอกาสได้นั่งคุยกับหัวหน้าคนงานที่มารื้อ เห็นบอกว่า คดีความนี้ได้ยืดเยื้อมาร่วม 10 ปีแล้ว โดยมีทางวัดกัลยาณมิตร เป็นโจทย์ยื่นฟ้องและศาลได้ตัดสินไปแล้วให้ดำเนินการรื้อได้ ที่ผ่านมาได้ให้เวลาชาวบ้านในชุมชน เตรียมตัวย้ายมาแล้วประมาณ 3 เดือน

         ในส่วนของชุมชน ได้พูดคุยและสอบถามความรู้สึกกับคุณป้าที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาอย่างยาวนาน คำตอบที่ได้รับ ทำให้รู้สึกเห็นใจเหมือนกัน แต่ยังไงล่ะ? ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป โลกใบนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตัวเองเสมอ แค่เราอาจไม่รู้สึกเองเท่านั้น

          เป้าหมายต่อไปก็คือ  " มัสยิดบางหลวง " หรือบางก็เรียกว่า " มัสยิดกุฎีขาว " ส่วนวัดกัลยาณมิตร ยังไม่ต้องแวะในตอนนี้ ขอเดินไปเยี่ยมชมมัสยิดบางหลวงก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมาที่วัดกัลยาณมิตรฯอีกครั้ง และไปยัง “ กวนอันเก๋งศาลเจ้าแม่กวนอิม “ ซึ่งอยู่ถัดกันไป





          หลังจากนั่งพักจนหายเหนื่อยแล้ว จึงเดินย้อนกลับออกมาเส้นทางเดิม ผ่านเส้นทางลัดตรงประตูระบายน้ำที่เพิ่งเดินข้ามคลองบางกอกใหญ่มา ผ่านสถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ของสำนักระบายน้ำ กทม. ก่อนเดินเลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา หลังจากนั้นก็เดินตรงออกสู่ถนนใหญ่




พอเดินพ้นปากซอยออกมา มองซ้ายมองขวาเห็นถนนว่าง ก็เดินลอดใต้สะพาน " อนุทินสวัสดิ์ " ไปยังมัสยิดบางหลวง ซึ่งพอพ้นแนวใต้สะพานออกมา ก็สามารถมองเห็นป้ายทางเข้าไปในมัสยิดบางหลวงเลย เพราะอยู่แค่ถนนกั้นเท่านั้น




          ระยะทางจากปากซอยเข้าไปจนถึงมัสยิดบางหลวง ประมาณ 100 เมตรเท่านั้นเอง ใช้เวลาเดินไปด้วยแวะถามทางไปด้วย เพียงแค่ประมาณ 2 นาที ก็เดินถึงมัสยิดบางหลวงแล้ว

          " มัสยิดบางหลวง(กุฎีขาว) " อยู่ในชุมชนกุฎีขาว ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เท่าที่อ่านในประวัติ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2328) โดยพ่อค้ามุสลิมชื่อ “ โต๊ะหยี “  ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทำการก่อสร้างมัสยิดขึ้นในหมู่บ้านเป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีหน้าบันหน้า-หลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติ คือ ไทย จีน และยุโรป ซึ่งถือเป็นมัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลกอีกด้วย

          ที่กรอบหน้าบัน เป็นเครื่องลำยอง ประดับห้ามลายไว้บนยอด เป็นศิลปะไทย ส่วนในหน้าบัน เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ เป็นศิลปะฝรั่ง และที่ส่วนดอกไม้ เป็นดอกเมาตาล เป็นศิลปะจีน  ลายศิลปะ 3 ชาตินี้ ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ในส่วนตัวอาคารที่เป็นปูน ทาสีขาวทั้งหมด ส่วนที่เป็นไม้จึงสีเขียว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าว่า " กุฎีขาว "

          ทั้งอาคาร มีห้องกลางห้องเดียว เป็นห้องละหมาด หน้าห้องละหมาดเป็นหน้ามุข มีพาไลหรือเฉลียงโดยรอบ ซุ้มกรอบวงกบหน้าต่าง เป็นลายปูนปั้นสีขาวเหมือนกันทุกบาน ชุมชนที่ลานด้านหลังมัสยิด เดินเข้าซอยมาจะพบลานนี้ก่อน

ข้อความน่ารู้ :

          คำว่า " กุฎี " ถูกนำมาใช้เรียก ศาสนสถานของมุสลิม มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 ได้เปลี่ยนคำเรียกเป็น มัสยิด
ส่วนคำว่า มิมบัร หมายถึง แท่นยืนแสดงธรรม คล้ายธรรมาสน์ของพระภิกษุ




          พอเดินเข้าไปด้านซ้ายมือของตัวอาคารของมัสยิด ก็จะเป็นศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมมัสยิดบางหลวง ซึ่งมีหลังคาทรงไทยสีแดง มีเต็นท์ตั้งเอาไว้ทั้งด้านข้างและด้านหน้าประตูทางขึ้น เข้าใจว่า น่าจะมีการจัดงานใหญ่อะไรสักอย่าง

          ด้านในสุดของอาคารศูนย์อบรมฯจะมีที่อาบน้ำละหมาดหญิง สร้างไว้เป็นสัดส่วนดีมาก พอเดินมาด้านหน้าของมัสยิด จะพบกับป้ายภาษาอิสลาม เดาว่า น่าจะเป็นข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามอะไรสักอย่างนี่แหละ คล้ายๆกับวัดไทยทั่วไป เช่น กรุณาถอดรองเท้า หรือ ห้ามผู้หญิงนุ่งสั้นเข้าโบสถ์หรือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรทำนองนี้

          คงมาไม่ตรงเวลาที่มัสยิดเปิด จึงไม่สามารถขออนุญาตใครเข้าไปถ่ายภาพด้านในได้ เดินย้อนกลับออกมาด้านหลังตึกมัสยิด คุยกับคุณป้าทีอาศัยอยู่ในละแวกมัสยิด ได้ความว่า มัสยิดจะเปิดช่วงเที่ยงครึ่ง บ่ายสามครึ่ง และรอบดึกอีก 3 ครั้ง สรุปก็คือ วันละ 5 ครั้ง แล้วแต่ใครจะสะดวกหรือจะละหมาดอยู่ที่บ้านก็ได้เหมือนกัน




          เดินย้อนออกตามเส้นทางเดิม สู่ถนนใหญ่ ซึ่งทีแรกตั้งใจจะข้ามคลอง เพื่อไปยังมัสยิดต้นสน แต่คุณป้าที่มัสยิดบางหลวงบอกว่า เปิดเวลาคล้ายๆกัน ไปก็คงไม่เปิดให้เข้าไปดูเหมือนกัน เอาไว้คราวหน้ามาดีกว่า

          เดินกลับลอดใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ เดินเข้าซอยเดิม พอไปถึงสถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ของสำนักระบายน้ำ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัดไป

          วันนี้ " วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร " นั้นเงียบมาก เหมือนวัดร้างไปเลย ด้านในบริเวณพระอุโบสถ เห็นเพียงน้องๆหนุ่มสาว 2 คนเท่านั้น ที่เข้าไปทำบุญไหว้พระ

  


          เดินผ่านประตูพระอุโบสถออกมาด้านหน้า ซึ่งเป็นทางเดินไปสู่ท่าเรือข้ามฟาก แต่ก่อนมาทีไรก็จะเห็นแต่คนมานั่งขายล็อตเตอรี่ และมีทั้งเด็กและผุู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงสูงอายุ มานั่งเป็นแถวขอรับการบริจาคบุญอยู่เสมอๆ แต่วันนี้มันโล่งเงียบไปหมด  ในใจคิดสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับวัดนี้กันนะ

          พอผ่านเจดีย์เก่ามาจนเกือบจะถึงศาลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปทางซ้ายมือ เห็นคนมุงดูอะไรกันก็ไม่รู้ อ้าว! มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ด้วยความสงสัยว่ามันเกิดอะไรกันขึ้น จึงใช้กล้องซูมเข้าไปดูใกล้ๆ เห็นแต่คนไปยืนออกันอยู่ตรงหน้าบ้านหลังหนึ่งแถวกลางซอย เป็นซอยที่สามารถเดินทะลุไปยังอีกด้านที่เดินเข้าไปก่อนหน้านี้(คนละด้านกัน)

          ส่วนคนในชุมชนที่ยืนจับกลุ่มอยู่ตรงปากซอยเล็กๆด้านข้างบอกว่า ศาลตัดสินและมีการบังคับคดีแล้ว เริ่มรื้อวันนี้เป็นวันแรก เน้นบ้านหลังที่หัวแข็งและต่อต้านก่อน หวยออกที่บ้านประธานชุมชนเป็นหลังแรก(โดนรื้อเป็นหลังแรก) สำหรับหลังที่กำลังมุงต่อรองกันอยู่ก็อยู่ในเป้าหมายที่ต้องรื้อก่อนเช่นกัน ส่วนหลังอื่นๆให้นับจากวันนี้ไปอีก 14 วัน

          หันกลับมาเก็บภาพพระอุโบสถจากมุมไกลอีกสักภาพ ก่อนไปต่อ...(จบตอนที่ 3)




ฝากคำโบราณ ที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้

วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย   บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย

บ้านกับวัดผลัดกันช่วยอำนวยชัย  ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง 

โปรดติดตามอ่านกัน....ตอนต่อไป :

          ค่อยๆอ่านเมื่อมีเวลาว่างๆที่ผ่อนคลาย และก็ไม่แน่นะ บางทีคุณอาจเป็นผู้ถูกเลือกให้ต้องหลุดย้อนเข้าไปในยุคอดีตสมัยธนบุรี หรือไม่ ก็ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้ใครจะรู้

          คำถามก็คือ หากเป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณจะใช้ชีวิตอยู่ในยุคนั้นสมัยนั้นได้อย่างไร? และที่สำคัญคุณเคยถามตัวเองไหม? ว่าจะสามารถเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ ไปช่วยพัฒนาชาติไทยของเราให้รุ่งเรื่องได้จริงๆ ขำๆนะ แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็ตัวใครตัวมันกันละ.

Travel Bangkok 360 องศา : เส้นทางย้อนอดีตชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา(ฝั่งธนบุรี) ตอนที่ 3

Travel Bangkok 360 degree : the route back in time Traditional community (Thonburi) Chapter 3           บทความการเดินเที่ยวย้อนยุค...